ไทรอยด์ขึ้นตา
ไทรอยด์ขึ้นตา
โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นสูงจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย
ตาโปน เป็นลักษณะของตาที่มีภาวะไทรอยด์ขึ้นตาหรือไม่?
ตาโปน เป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงภาวะผิดปกติเช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื้องอกในเส้นเลือด เป็นต้น
ตาโปนที่เป็นลักษณะบ่งบอกถึงการเป็นภาวะไทรอยด์ขึ้นตานั้น โดยส่วนมากมักจะเกิดจาก กล้ามเนื้อและส่วนที่เป็นไขมันในดวงตามีขนาดโตมากขึ้นจนดันให้ลูกตาดูโปนออกมาจากเบ้าตา
ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีอาการผิดปกติอย่างไร
-ตาโปน
-เปลือกตาเลิกขึ้น มองลงล่างแล้วเปลือกตาขยับตามลงมาช้า
-เห็นภาพซ้อน
-มีอาการตาเหล่ ตาเข
-เยื่อบุตาแดงเป็น ๆ หาย ๆ
-เยื่อบุตาบวม
ในช่วง 1-2 ปีแรก อาการจะค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ถ้าเราควบคุมระดับไทรอยด์ให้คงที่ อาการไทรอยด์ที่ขึ้นตาก็จะคงที่หรือลดลง แต่มีโอกาสน้อยที่จะหายขาดจากภาวะผิดปกติดังกล่าว
ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีสาเหตุเกิดจากอะไร
ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีความสัมพันธ์กับไทรอยด์ที่เกิดขึ้นในบริเวณคอ มักจะพบบ่อยราว ๆ 90 % ในคนไข้ที่ป่วยเป็น ไทรอยด์เป็นพิษ แต่ไทรอยด์ไม่เป็นพิษก็เกิดภาวะไทรอยด์ขึ้นตาได้
ไทรอยด์ขึ้นตา มีอันตรายอย่างไรหากไม่รักษา
ในช่วง 1-2 ปีแรกก็มีโอกาสเกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น อาจมีภาวะตาโปนจนไม่สามารถหลับตาได้ เกิดภาวะแผลที่กระจกตาอักเสบ จนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หากมีการกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้การมองเห็นลดลง และอาจสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
อาการผิดปกติ ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา ที่ควรรีบมาพบแพทย์
-ตามัวลง เพราะอาจเกิดจากการกดทับเส้นประสาทที่ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
-ตาโปนมากขึ้น หลับตาไม่สนิท อาจทำให้กระจกตาเป็นแผล และส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวร
-เห็นภาพซ้อน เกิดจากกล้ามเนื้อตาที่โตมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะมองเห็นภาพซ้อน ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น
ไทรอยด์ขึ้นตา มีปัจจัยอะไรบ้างที่กระตุ้นอาการ
-การสูบบุหรี่ จะทำให้ไทรอยด์ทางตามีอาการที่แย่ลง
-การพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้อาการแย่ลง การพักผ่อน รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้อาการไม่ลุกลามอย่างรวดเร็ว
-ควบคุมระดับฮอร์โมนในเลือดไม่ได้ ส่งผลต่ออาการไทรอยด์ขึ้นตา ดังนั้น การควบคุมระดับฮอร์โมนในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการไทรอยด์ที่ตารุนแรงมากขึ้นได้
ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร
แพทย์ตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่ามีลักษณะผิดปกติทางตาหรือไม่
หากคนไข้ยังไม่เคยตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย หมอจะทำการส่งตรวจเลือดและตรวจภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Anti TSH Receptor เพื่อตรวจโรคไทรอยด์ทางตา
การส่งตรวจภาพถ่ายทางรังสี CT Scan บริเวณเบ้าตา เพื่อดูว่าบริเวณเบ้าตามีกล้ามเนื้อที่โตขึ้นผิดปกติ มีลักษณะไขมันที่เข้าข่ายกับการเป็นไทรอยด์ขึ้นตาหรือไม่
ภาวะไทรอยด์ขึ้นตา มีวิธีการรักษาอย่างไร
สามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงแรกคือ 1-2 ปีแรกของภาวะไทรอยด์ขึ้นตาเรียกว่าเป็นช่วง active เป็นช่วงที่ยังมีการอักเสบอยู่ ในช่วงนี้หากมีอาการบวมมากขึ้น ตาโปนมากขึ้น เห็นภาพซ้อนมากขึ้น อาจมีความจำเป็นในการใช้ยากลุ่ม สเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบลง ควบคุมไม่ให้กล้ามเนื้อและไขมันมีขนาดโตขึ้น
ช่วงที่ 2 คือช่วงภาวะอาการคงที่หลังจากผ่านช่วงระยะอักเสบ 1-2 ปีแรกมาแล้ว เป็นช่วงที่ต้องคอยสังเกตดูว่า ยังหลงเหลืออาการผิดปกติที่มองเห็นได้ในส่วนใดของดวงตาบ้าง จากนั้นจึงอาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขเพื่อรักษา โดยจะเรียงลำดับความสำคัญจาก การผ่าตัดขยายขนาดเบ้าตาเพื่อลดอาการตาโปน หากมีอาการมองเห็นภาพซ้อนอยู่เยอะ อาจต้องผ่าตัดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลอกตาเพื่อลดปัญหาภาพซ้อน และสุดท้ายคือการผ่าตัดเปลือกตา เพื่อแก้ไขปัญหาเปลือกตาเลิกขึ้นมากผิดปกติ
การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะไทรอยด์ขึ้นตา
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการทำผ่าตัดเบ้าตา จำเป็นจะต้องควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนสักระยะ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ การผ่าตัดปรับขนาดเบ้าตาเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างใหญ่ ใช้เวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นนาน